วังพรม ขยับ เผยแผนธุรกิจออกสื่อ
แปลงโฉม "วังพรม" ยุคใหม่ ที่นี่เราไม่ได้มี...แค่ยาหม่อง
ก่อร่างสร้างตัวมาจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ด้วยการรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาขาย ก่อนจะค่อย ๆ ศึกษาและพัฒนาจนมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นของตัวเองในชื่อที่รู้จักกัน "ยาหม่อง หมอเฉลิม" ด้วยคุณภาพของสินค้าที่โดดเด่น ก็สร้างชื่อให้ ยาหม่อง สูตร เสลดพังพอน เป็นที่รู้จักของชาวบ้านร้านตลาดไปทั่วทุกพื้นที่ โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด
อย่างไรก็ตาม แม้คุณภาพของสินค้าจะเป็นที่ยอมรับสร้างชื่อให้ติดตลาดด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค และคู่แข่งขันรายใหม่และเก่าที่โหมทำตลาดมากขึ้น ก็ทำให้การเข้ามารับหน้าที่สานต่อธุรกิจครอบครัวของเจเนอเรชั่นที่ 2 ของบริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด อยู่นิ่งไม่ได้อีกต่อไป
วันนี้ "วัชรีภรณ์ วังพรม" ในฐานะเจเนอเรชั่นที่ 2 พร้อมด้วย สามี "กณพ สุทธะพินทุ" กลายเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และสร้างอาณาจักร วังพรม ยุคใหม่ โฉมใหม่ ให้เติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่เปลี่ยนทุกวินาที
"วัชรีภรณ์ วังพรม" ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภายใต้แบรนด์ "วังพรม" ฉายภาพกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงที่มาที่ไปของสมุนไพรวังพรม ว่า เราเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ย้อนกลับไปเมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา คุณแม่ (ประนอม วังพรม) และคุณพ่อ (เฉลิม วังพรม) ได้รับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากบริเวณวัดโพธิ์ ท่าเตียน มาจำหน่ายต่อในจังหวัดนครปฐม โดยร้านแรกตั้งอยู่ที่หน้าวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน ซึ่งการทำธุรกิจช่วงเริ่มต้นก็แค่ซื้อมาขายไป แต่ก็มียอดขายที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่ เริ่มมองหาโอกาสด้วยการต่อยอดธุรกิจจากสมุนไพร
กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของตัวเองอย่างจริงจังจนสินค้าตัวแรกได้ถูกพัฒนาขึ้นคือยาหม่องสูตรไพล(ขวดสีเหลือง)แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าสูตรที่2 เสลดพังพอน (ขวดสีเขียว) ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่มีกลิ่นหอม สดชื่น
เมื่อสินค้าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ก็เริ่มมีสินค้าลอกเลียนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ต้องเริ่มสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้า ซึ่งตอนนี้ คุณแม่ ก็ได้คิดตราสินค้าง่าย ๆ ด้วยการใช้ ใบหน้าของคุณพ่อ (เฉลิม วังพรม) เป็นโลโก้ และใช้นามสกุล วังพรม เป็นแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างการจดจำให้แก่ลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายบริหารของคุณแม่ คือ ไม่เน้นการทำตลาด ไม่ออกสื่อ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีสม่ำเสมอ ทำให้ชื่อของสมุนไพร วังพรม ไม่เคยปรากฏบนพื้นที่สื่อ
"วัชรีภรณ์" กล่าวต่อว่า ตลอดเวลา 22 ปีที่ผ่านมา แม้ชื่อ วังพรม ไม่ปรากฏบนพื้นที่สื่อ แต่ด้วยคุณภาพของสินค้า ก็สามารถสร้างชื่อให้แก่วังพรมได้
เรียกว่า สินค้า ขายได้ด้วยตัวเอง
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจสมุนไพรเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้น ทั้งการเข้ามาของรายใหม่ ๆ หรือ รายเก่าที่เดินหน้า ทุ่มงบฯทำการตลาดมากขึ้น ทำให้วังพรมเอง เริ่มกลับมามองว่า ถ้ายังนิ่ง ไม่เริ่มทำอะไร ก็เท่ากับกำลังถอยหลัง เพราะคู่แข่งเดินนำหน้าไปไกลแล้ว
"วัชรีภรณ์" ยอมรับว่า การรุกตลาดของคู่แข่ง กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ของวังพรม เพราะหลังจากเรียนจบ ยอมรับว่าไม่ได้ต้องการสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่อยากทำธุรกิจของตัวเอง เมื่อสภาพการแข่งขันเปลี่ยนไป คู่แข่งขันรุกหนักขึ้น ยอดขายของวังพรมค่อย ๆ ลดลง
ท้ายที่สุดก็ต้องเปลี่ยนความคิด และกลับมาทบทวนใหม่ว่า เราต้องเริ่มทำอะไรจริงจังแล้ว ไม่อย่างนั้น ธุรกิจที่คุณแม่สร้างขึ้น คงไม่โตมากไปกว่านี้แน่
เป้าหมายใหญ่ของ วังพรม จากนี้ไป ต้องก้าวไปปักธงในตลาดต่างประเทศให้ได้ มากกว่าการขยายฐานลูกค้า หรือเพิ่มช่องทางขายในประเทศเท่านั้น
"การตัดสินใจเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจพร้อม ๆ กับสามีครั้งนั้น ทำให้ต้องเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ทั้งหมด เพราะไม่มีความรู้ และประสบการณ์ทางด้านการตลาดมาก่อน แม้ที่ผ่านมาจะช่วย คุณแม่ มาตั้งแต่เริ่มต้น แต่พอเข้ามาบริหารงานจริง ๆ ก็ยากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น สิ่งแรกที่เริ่มทำ คือ การจ้างบริษัทวิจัยเล็ก ๆ เข้ามาสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค เพื่อให้รู้ว่า แบรนด์วังพรม มีจุดเด่น จุดด้อย และต้องแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งผลวิจัยที่ได้ก็สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยผลวิจัยระบุว่า สินค้ามีคุณภาพ แต่หาซื้อยาก และแพ็กเกจจิ้งเก่า"
"วัชรีภรณ์" บอกว่า เมื่อผลวิจัยออกมาแบบนั้น ก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมวังพรม ถึงไม่สามารถเจาะตลาดคนเมืองได้ทำให้ต้องก็เริ่มแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทีละอย่าง ตั้งแต่การบริหารจัดการภายในบริษัท เพราะที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว ไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่ในส่วนของออฟฟิศ รวมถึงการปรับแพ็กเกจจิ้งสินค้า
เรียกว่า การเปลี่ยนครั้งนี้ "วัชรีภรณ์" ย้ำว่า ต้องทำวังพรมให้คนว้าวให้ได้
หลังจากนั้น ก็เริ่มปรับทุกอย่างมาเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่การปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ ให้สดใสมากขึ้น และปี 2559 ถือเป็นปีที่บริษัทลงทุนมากที่สุด โดยวางระบบใหม่ทั้งหมด ทั้งบัญชี การบริหารจัดการรายชื่อลูกค้า ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว การปรับปรุงโรงงาน โดยเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาผลิตสินค้า รวมถึงแต่งตั้งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าสมุนไพรของวังพรมทั้งช่องทางโมเดิร์นเทรดและเทรดิชั่นนอลเทรดทั่วประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
"วัชรีภรณ์"มองว่าการสร้างแบรนด์หรือทุ่มเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็สามารถจุดพลุสร้างชื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ วังพรม ได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าไม่ได้ทำต่อเนื่องทุกอย่างก็หายไป ดังนั้นได้ร่วมกับบริษัท ซีโนนีม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเครืออะโพรโทรฟีเอส กรุ้ป เดินหน้าธุรกิจด้วยกลยุทธ์ อีเวนต์ออนกราวนด์ ด้วยการสร้างคอนเทนต์จากงานดีไซน์เพื่อดึงคนมาเป็นส่วนหนึ่งของวังพรม
เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่โรงงานเก่าให้เป็นสำนักงานวังพรมโดยออกแบบพื้นที่สำนักงานให้โปร่งโล่งให้บรรยากาศเหมือนบ้านมากที่สุดบนพื้นที่250ตร.ม.
เป้าหมายระยะยาวคือการสร้างชุมชนให้แก่แบรนด์วังพรม โดยเตรียมจะสร้างคอมมิวนิตี้มอลล์แห่งใหม่ของอำเภอสามพราน ภายใต้ชื่อ "นิเวศ วังพรม" คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในปีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาพื้นที่ โดยแนวคิดหลัก ๆ ของคอมมิวนิตี้มอลล์นี้ คือ การต่อยอดจากธุรกิจสมุนไพรวังพรม สู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร สปา คาเฟ่สมุนไพร เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้คนเมือง ได้ ช็อป ชิม ชิลล์ ด้วย
ขณะเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ก็สามารถจัดอีเวนต์ งานแฟร์ต่าง ๆ เพื่อสื่อสารถึงสรรพคุณของสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลได้ หวังจะปั้นให้เป็นแลนด์มาร์กของอำเภอสามพราน ซึ่งคาดว่าการปรับเปลี่ยนธุรกิจทั้งหมดครั้งนี้จะใช้งบฯลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
"วัชรีภรณ์" บอกว่าอีกเป้าหมายที่ต้องเดินไปให้ถึง คือ การสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภครับรู้ว่า วังพรม ยุคนี้ไม่ได้มีแค่ยาหม่อง แต่มีสินค้าสมุนไพรกว่า 100 รายการทั้งแชมพู สบู่ กลุ่มยาแคปซูล ยาดม และยังมีแหล่งท่องเที่ยว มีศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรที่กำลังเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
"กณพ สุทธะพินทุ" ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สมุนไพร วังพรม จำกัด กล่าวเสริมว่า ตอนนี้วังพรมถือว่ามีความพร้อมแล้วสำหรับการรุกตลาดอย่างเต็มที่ และไม่เพียงตลาดภายในประเทศเท่านั้น ที่บริษัทได้รุกหนักด้วยการเสริมทีมขายของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ทำให้สินค้าถูกกระจายเข้าทุกช่องทาง ปิดจุดอ่อนด้านช่องทางจำหน่ายแล้ว
ปีนี้ยังมีแผนจะขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ เริ่มตั้งแต่ทยอยปรับแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัยขึ้น เดินหน้าทำตลาดต่อเนื่อง ทั้งโรดโชว์ การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ โฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมถึงจะออกสินค้าใหม่ เจาะตลาดคนเมืองด้วย ซึ่งทุกอย่างจะเริ่มต้นในปีนี้
ขณะที่เป้าหมายการขยายตลาดต่างประเทศนั้น ก็เพิ่มดีกรีขึ้น เดินหน้าหาพันธมิตรจัดจำหน่ายในต่างประเทศ จะเริ่มขยายเป็นเฟส ๆ ไป ช่วงแรกจะเร่งหาตัวแทนจำหน่ายในกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย ลาว เวียดนาม เมียนมา กัมพูชา รวมถึงจีนด้วย
หลังจากนั้นจะขยายไปยังประเทศแถบยุโรป อเมริกา โดยตั้งเป้าหมายว่าอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 40% และรายได้ภายในประเทศ 60% จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ภายในประเทศ 70% และต่างประเทศ 30%
อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับแผนที่วางไว้ในอนาคต บริษัทก็มีแผนจะขยายโรงงานใหม่ด้วย ซึ่งจะเริ่มต้นได้เร็วที่สุด คือ ปลายปีนี้
เท่ากับว่า วังพรม วันนี้พร้อมแล้ว สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและการแข่งขันที่ร้อนแรงขึ้นจากทุก ๆ มิติ
ข่าวสารจาก: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์